จังหวะการทำงานของเครื่องยนต์เล็กเบนซินแบบ 4 จังหวะ คือ จังหวะดูด จังหวะอัด จังหวะระเบิด และจังหวะคาย ทั้ง 4 จังหวะการทำงานของเครื่องยนต์จะเกิดขึ้นจากการหมุนของเครื่องยนต์ 2 รอบและจะได้งานของเครื่องยนต์ 1 ครั้ง
จังหวะดูด (Intake)
จังหวะดูดเริ่มต้นจากลูกสูบอยู่ด้านบนของกระบอกสูบ เคลื่อนที่ลงสู่ด้านล่าง ลิ้นไอดีเปิดเพื่อดูดส่วนผสมไอดี (น้ำมันเบนซินผสมกับอากาศ) เข้ากระบอกสูบจนลูกสูบเคลื่อนที่ลงสู่ศูนย์ตายล่างลิ้นไอดีจึงอยู่ในตำแหน่งปิด โดยในจังหวะนี้ลิ้นไอเสียอยู่ในตำแหน่งปิด
จังหวะอัด (Compression)
จังหวะอัดลกสูบเคลื่อนที่จากศูนย์ตายล่างขึ้นสู่ศูนย์ตายบนของกระบอกสูบ เพื่ออัดส่วนผสมไอดีที่ถูกดูดเข้ามาภายในกระบอกสูบจากจังหวะดูด ส่งผลทำให้ภายในกระบอกสูบมีอัตราส่วนการอัดสูงขึ้นประมาณ 1 : 6 ถึง 1 : 10 ความดันประมาณ 6.0 – 10.0 กก./ซม2. ในจังหวะนี้ลิ้นไอดีและลิ้นไอเสียอยู่ในตำแหน่งปิด
จังหวะระเบิดหรือจังหวะงาน (Expansion)
ก่อนลูกสูบเคลื่อนที่ถึงศูนย์ตายบนเล็กน้อย จะเกิดประกายขึ้นที่เขี้ยวหัวเทียนทำให้เกิดการจุดระเบิดของเชื้อเพลิงขึ้นภายในกระบอกสูบ ในจังหวะนี้เป็นจังหวะที่ให้งานออกมา หลังจากนั้นลูกสูบก็จะเคลื่อนที่จากศูนย์ตายบนลงสู่ศูนย์ตายล่าง โดยในจังหวะนี้วาล์วไอดีอยู่ในตำแหน่งปิดและวาล์วไอเสีย เริ่มเปิดเพื่อระบายไอเสียที่เกิดขึ้นภายในกระบอกสูบ
จังหวะคาย (Exhaust)
จังหวะคายเป็นการทำงานต่อจากจังหวะระเบิด เมื่อลูกสูบเคลื่อนที่จากศูนย์ตายบนลงสู่ศูนย์ตายล่างเนื่องจากการได้รับแรงกระแทกจากการเผาไหม้เชื้อเพลิง จากนั้นลูกสูบจะเคลื่อนที่ขึ้นสู่ด้านบนของกระบอกสูบเพื่อไล่ไอออกผ่านทางลิ้นไอเสีย เมื่อลูกสูบเคลื่อนที่ถึงศูนย์ตายบนวาล์วไอเสียก็จะปิด วาล์วไอดีก็จะอยู่ในตำแหน่งเริ่มเปิดอีกครั้ง เพื่อเข้าสู่จังหวะดูดใหม่อีกครั้ง
สรุป วัฎจักรการทำงานของเครื่องยนต์เล็กเบนซิน 4 จังหวะ
จังหวะดูด จังหวะอัด จังหวะระเบิดหรือจังหวะงานและจังหวะคาย ลูกสูบเคลื่อนที่ขึ้นลงรวม ทั้งหมด 4 ครั้งหรือ 2 รอบ เพลาข้อเหวี่ยงหมุน 2 รอบ ได้งานจากเครื่องยนต์ 1 ครั้ง